ผู้สร้าง
โดย.. ลาภ อำไพรัตน์
ตามความหมายของพจนานุกรมไทยนั้น “ พระเจ้า ” มีความหมายว่า “ เทพผู้เป็นใหญ่ ” ส่วนในความหมายของพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ( Dictionary ) “ พระเจ้า ” ( Jesus ) หมายถึง “ พระผู้เป็นเจ้า ” หรือ “ พระเยซูคริสต์ ”
แต่ “ พระเจ้า ” ในความหมายส่วนลึกและความรู้สึกส่วนตัวของผมนั้น คือ “ ผู้สร้าง ” “ ผู้สร้างสรรค์ ” และ “ ผู้ให้กำเนิด ” ดังนั้นพระเจ้า “ ในที่นี้ ” จึงเป็นคนละความหมายกันกับคำว่า “ พระเจ้า ” ตามความของพจนานุกรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ความรู้สึกของคนทั่วไปนั้นเมื่อเอ่ยถึง “ พระเจ้า ” ก็มักจะจินตนาการไปถึง “ ผู้สร้าง ” ที่ให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวงภายในอาณาเขตของโลกมนุษย์ (หรือบางคนอาจตีความภาพในสมองเหมารวมไปถึงจักรวาล) ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ เทคโนโลยี ฯลฯ หรือแม้แต่บางสิ่งอย่างที่มนุษย์รู้สึกว่า “ ผู้สร้าง ” ไม่น่าจะมีความประสงค์ให้สร้าง
มนุษย์มีกล่าวว่าสิ่งที่ทุกชีวิตได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ก่อตัวเป็นรูปธรรม ( และแน่นอน บางคนอาจจินตนาการรวมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมเข้าไปด้วย ) ล้วนเป็นดำริของ” พระผู้สร้าง ” ทั้งนั้น โดยที่ผู้สร้างอาจ “ ส่งสาร ” ลงมาจากฟากฟ้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มนุษย์เกิดสำนึกที่จะจงใจสร้างสิ่งนั้นๆ ตามความต้องการของ “ ผู้สร้าง” ขึ้นมา
แต่ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เหล่ามนุษย์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ “ ผู้สร้าง ” ลดตัวลงมาลงมือสร้างสรรค์เองบนโลกใบนี้ โดยไม่ต้องบอกผ่านใคร สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์มักเอ่ยปากเรียกว่า “ ธรรมชาติ ” และมนุษย์ยังเชื่อด้วยว่าเมื่อ “ ผู้สร้าง” สามารถสร้างสรรค์ได้ฉันใดก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันดีคืนดี “ ผู้สร้าง” จะเปลี่ยนสถานะเป็น “ ผู้ทวงคืน ” ด้วยการทำลายสิ่งที่สร้างมากับมือทิ้งได้ทุกเวลาตามความพอใจ ฉันนั้น
สิ่งมีชีวิตที่มีทรงผม ( แทบ ) ทุกคนเชื่อว่าทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนเป็นผลงานของ” ผู้สร้าง ” ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความมืดกับความสว่าง( แสงเงา ) กลางวันกับกลางคืน ( อารมณ์ ) ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์และกลุ่มดาว ( จุด ) ทะเลกับแนวขอบโลก ( เส้น ) ท้องฟ้า แผ่นหญ้า ดอกไม้และมหาสมุทร ( สี ) ฤดูกาล ( เทคนิควิธีการ ) โชคชะตา ( จังหวะ ) ผืนดินและแผ่นน้ำ ( พื้นที่ว่าง ) ความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ ( ระยะ ) โรคระบาด ( พื้นผิว ) ผู้หญิง กระเทยและผู้ชาย ( ตัวเชื่อม ) ทารกกับผู้เฒ่า (ความขัดแย้ง ) ตึกรามบ้านช่อง ( ความคิดสร้างสรรค์ ) เทคโนโลยี ( ยุคสมัย ) กฏระเบียบ ( รูปทรง ) ธรรมชาติ ( รูปร่าง ) ปาฎิหาริย์ ( จินตนาการ ) ชนชั้นและการเมืองการปกครอง ( ความสมดุล ) สิ่งมีชีวิต ( สัดส่วน ) ศาสนาและความเชื่อ ( สัญลักษณ์ ) กฏหมายและความสามัคคี ( เอกภาพ ) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดแสดงตัวออกมาในรูปแบบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ( องค์ประกอบศิลป์ ) โดยที่มนุษย์นั้นเป็นเพียง “ หนึ่งในตัวละคร ” ของผู้สร้างสรรค์ที่ก่อกำเนิดมาจากความว่างเปล่าเท่านั้น
ทั้งที่ลึกๆ ในใจของมนุษย์ไม่เคยแน่ใจเลยว่าแท้จริงผู้สร้างมีตัวตนหรือไม่ อีกทั้งทฤษฎี “ เพราะมีสิ่งหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งจึงถือกำเนิด ” นั้นมาจากไหน แต่ที่รู้ก็คือทุกอย่างและทุกชีวิตต้องเกื้อกูลกันและกัน
ป่านนี้อีกโลกหนึ่งบนผืนผ้าใบและหน้าแผ่นกระดาษ หนึ่งในตัวละครที่กำลังโลดแล่น ( โดยไม่รู้ตัวว่าจิตรกรผู้สร้างเขาขึ้นมาจากฝีมือกำลังเพ่งมองเขาอยู่ ) คงกำลังมีความเลื่อมใส ( และสงสัย ) เกิดขึ้นในใจมากมายเกี่ยวกับ “ ผู้สร้างเขาขึ้นมา ” เหมือนที่เรากำลังศรัทธา ( และคาใจ ) ใน “ ผู้สร้างที่สร้างเราขึ้นมา ” ก็ได้
สร้างงานศิลปะชิ้นใหม่ก็เหมือนกับกำลังสร้างโลกใบใหม่
ไม่แน่ใจ “ ท่านผู้สร้าง ” มีตัวตนจริงหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ “ จิตรกรผู้สร้าง ” มีตัวตนจริงแน่นอน